เกี่ยวกับภาควิชา

ประวัติ
     ภาควิชาภาษาศาสตร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นภาควิชาพร้อมกับที่มหาวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใน พ.ศ. 2518 ในช่วงต้นได้เปิดสอนภาษาศาสตร์เป็นวิชาโทสำหรับนิสิตปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ที่เรียนวิชาภาษาเป็นวิชาเอก ทั้งนี้ หมายความว่านิสิตที่เรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือไทยเป็นวิชาเอก หากมีความประสงค์จะเรียนวิชาภาษาศาตร์เป็นวิชาโทก็ได้
     ต่อมาภาควิชาฯ มีความเห็นว่าเนื้อหาทางวิชาภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้าน ภาษาศาสตร์ประยุกต์นั้น จะก่อประโยชน์ให้กับผู้ที่ต้องการจะเป็นบัณฑิตทางด้านภาษาศาสตร์ การศึกษา เพื่อนำความรู้ความชำนาญไปใช้ในการประกอบอาชีพเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับการวิจัยภาษา หรือเป็นผู้สอนภาษา ภาควิชาฯจึงได้จัดทำหลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิตในสาขาวิชาภาษาศาสตร์การศึกษา และเปิดสอนหลักสูตรนี้ในปี 2522 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2546) ภาควิชาฯ ผลิตบัณฑิตไปรับใช้สังคม 16 รุ่น จำนวน 104 คน
     ผลงานของภาควิชาภาษาศาสตร์ ด้านการผลิตบัณฑิตทางภาษาศาสตร์การศึกษา การผลิต ผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ รวมทั้งในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมเป็นที่รับรู้ และเชื่อถือในวงการสอนภาษาอังกฤษ ในปี 2530 รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งทำโครงการอบรมครู ภาษาอังกฤษให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ดำริที่จะให้คณะมนุษยศาสตร์เป็นหน่วยอบรมครูประจำการภาษาอังกฤษที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านภาษาและการสอนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น การเจรจาระหว่างบริติชเคาน์ซิล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเกิดขึ้น และส่งผลให้มีโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันนี้ ภายใต้แผนโคลัมโบ ในปีนั้น ภาควิชาฯ จัดร่างหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศขึ้น โดยบริติชเคาน์ซิลส่งผู้ชำนาญการมาช่วยร่างหลักสูตร และจัดอบรมคณาจารย์ เพื่อดำเนินการในการสอนตามหลักสูตรต่อไป โครงการมีอายุ 5 ปี ภาควิชาฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตดังกล่าวนี้ในปี 2531 ซึ่งเป็นหลักสูตร 1 ปี และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอนโดยตลอด ผู้ที่เข้ามาศึกษาในโครงการนี้คือ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่มีประสบการณ์การสอนมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ผลงานในโครงการนี้ได้รับผลสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ เมื่อโครงการร่วมภายใต้แผนโคลัมโบใกล้จะสิ้นสุดลง ทางภาควิชาฯ มีดำริที่จะเปิดสอนระดับปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ โดยตั้งจุดประสงค์ไว้ว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต เน้นการผลิตบัณฑิตให้เป็นครูที่สอนภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทางการสอนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งสามารถเป็นผู้นิเทศการสอนได้ด้วย หลักสูตรปริญญาโทนี้เปิดสอนในปีการศึกษา 2536 และขณะนี้ได้พัฒนาเป็นหลักสูตรนานาชาติ
     ในปี พ.ศ. 2542 คณะมนุษยศาสตร์มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งของภาควิชาฯ ต่าง ๆ และลดความซ้ำซ้อนของหลักสูตร ทำให้เกิดการปรับหลักสูตรระหว่างภาควิชาภาษาตะวันตก และภาควิชาภาษาศาสตร์ โดยมีการโอนย้ายหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งระดับปริญญามหาบัณฑิตและประกาศนียบัตร จากภาควิชาภาษาศาสตร์ไปสังกัดภาควิชาภาษาตะวันตก ภาควิชาภาษาศาสตร์จึงรับผิดชอบหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิตสาขาภาษาศาสตร์การศึกษา และหลักสูตรวิชาโทภาษาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี
     ในปี พ.ศ. 2554 ภาควิชาภาษาศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ มุ่งผลิตนักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์
           
ปรัชญา
เรียนรู้ศาสตร์แห่งภาษา พัฒนาสังคม     
           
ปณิธาน     
ภาควิชาภาษาศาสตร์ มุ่งผลิต และพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถด้านภาษาศาสตร์ และภาษาศาสตร์ประยุกต์ที่จะนำความรู้ไปพัฒนาสังคม     
           
พันธกิจ     
พันธกิจของภาควิชาภาษาศาสตร์ คือ การผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านภาษาศาสตร์ และภาษาศาสตร์ประยุกต์ที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป     
           
วัตถุประสงค์     
เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถดังต่อไปนี้
เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถด้านภาษาศาสตร์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ
เพื่อพัฒนาความรู้ด้านภาษาศาสตร์ โดยส่งเสริมให้มีการวิจัยสร้างองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาวิชาการและสังคม
เพื่อพัฒนาบุคลากร โดยส่งเสริมการเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านการศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเข้าประชุมสัมมนา ศึกษาดูงาน
เพื่อพัฒนานิสิตทั้งด้านวิชาการ สุขภาพ และสังคม โดยส่งเสริมให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมวิชาการ การตรวจสุขภาพ การแข่งขันกีฬาบัณฑิต และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
เพื่อให้บริการวิชาการแก่ชุมชน โดยจัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านภาษาศาสตร์
ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอนและการดำเนินงานของภาควิชาฯ
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำระบบประกันคุณภาพการศึกษา มาใชัในการพัฒนาการปฏิบัติงานของภาควิชา

โครงสร้างหน่วยงาน